บ้านหน้าจั่วตัวแอล

บ้านหน้าจั่วตัวแอล

บ้านหน้าจั่วตัวแอล

บ้านหน้าจั่วตัวแอล เสน่ห์ของเชียงใหม่นั้นเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนคือ การเป็นเมืองที่มีชีวิตชีวาและเคลื่อนไหวตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นในมิติของการอยู่ การกิน ไปจนถึงแวดวงสถาปัตยกรรมที่มักมีผลงานบ้านสวย ๆ แบบคาดไม่ถึงซ่อนอยู่เสมอ ในหมู่บ้านวังตาล อำเภอหางดง ก็เช่นกัน จากหมู่บ้านจัดสรรธรรมดากลายมาเป็นจุดรวมแบบบ้านโมเดิร์นแนวคิดใหม่ของกลุ่มนักออกแบบ New Generation ที่เข้ามาสร้างสรรค์ผลงานอันน่าทึ่ง

เนื้อหานี้  ขอพาไปชม บ้านของคุณคม จักรกฤต สถาปนิกที่มีเส้นสายเฉียบคม ออกแบบพื้นที่ชีวิตทั้งด้านฟังก์ชันการใช้งาน ความสัมพันธ์ของพื้นที่กับทิศทางของแสงแดดและลม เพื่อให้ทุกบริบทมีความสอดคล้องและตอบโจทย์การใช้งานจริง

Modern minimal House

บ้านหน้าจั่วตัวแอล

“แรงบันดาลใจที่ทำบ้านหลังนี้ คือ อยากได้บ้านโมเดิร์นหลังคาทรงจั่วที่มีความแปลก มีเอกลักษณ์และความสวยงามที่ลงตัว” คุณจักรกฤต ดวงประเสริฐ สถาปนิกจาก MD.A monday architect เปิดการสนทนากับทีมงาน “บ้านไอเดีย” บริษัทรับออกแบบบ้านเล็ก ๆ ในเชียงใหม่นี้ เพิ่งเปิดตัวเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เป็นผู้ออกแบบบ้านสไตล์โมเดิร์นมินิมอลชื่อ H2 project บ้านสองชั้นพื้นที่ใช้สอย 300 ตารางเมตร แนวคิดการออกแบบหลัก ๆ เน้นความเรียบ ง่าย แต่ต้องไม่ธรรมดา และมองหาสัดส่วนที่พอดีระหว่าง อาคาร คน และธรรมชาติ เพื่อให้การอยู่อาศัยเต็มไปด้วยความสุนทรี นำเสนออาคารโมเดิร์นวางเป็นรูปตัว L โอบล้อมพื้นที่กลางแจ้ง ที่มีทั้งสนามหญ้า ต้นไม้และสระว่ายน้ำ

“บ้านหลังนี้เป็นทรงจั่วที่ตั้งใจใส่องศาความลาดเอียงหลังคาให้แตกต่างกัน จัดสัดส่วนทางสถาปัตย์ให้สวยงาม ทำให้เกิดมิติที่แปลกตาและกลายเป็นจุดเด่น ด้วยความตั้งใจอยากจะให้อาคารออกมาในสัดส่วนที่พอดี จึงทาสีผนังบ้านด้านล่างและรั้วด้วยสีเทาเข้มเหมือนเป็นพื้นหลัง และทาสีกล่องจั่วด้วยสีขาวให้ลอยเด่นขึ้นมา กรอบอาคารสีดำที่ขับเน้นให้บ้านมีเส้นสายตาเด่นชัด ใช้วัสดุแผ่นเหล็กสีดำนำมาพับขึ้นรูปตกแต่งบริเวณหลังคาโรงรถและช่องแสงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่บนตัวบ้าน มองกี่ครั้งก็รู้สึกว่าความน้อยนั้นกลับเพิ่มความน่าสนใจมากให้กับบ้าน” คุณจักรกฤต อธิบายในภาพรวมของดีไซน์อาคารทั้งหมด

ค่อย ๆ เดินไต่ระดับเข้าสู่ตัวบ้าน

จากโรงรถจะเป็นเนินลานสนามหญ้าและสระว่ายน้ำ ซึ่งเดิมมีพื้นที่ระดับเท่าถนนแต่คุณจักรกฤตปรับพื้นที่ให้สูงกว่าถนนประมาณ 80 เซนติเมตร แล้วทำเป็นสเต็ปค่อย ๆ ไต่ขึ้นไป เพื่อป้องกันปัญหาถนนสูงกว่าที่ดินในอนาคตและยังทำให้ตัวบ้านสูงขึ้น เปิดมุมมองหน้าบ้านได้ไกลขึ้นด้วย สำหรับสระว่ายน้ำขนาด 3 X 9 เมตรเป็นสระน้ำระบบน้ำล้น (Overflow System) ผิวหน้าน้ำของสระน้ำจึงไม่มีฝุ่นผงทำให้น้ำในสระสะอาดตาแม้จะลึก 1.4 เมตร แต่ก็ดูเหมือนตื้น กระบื้องในสระเป็นแบบกึ่งเงาสีขาวที่ไม่ลื่นและได้ reflex จากแสงและเกลือผสมทำให้น้ำสะท้อนแสงดูเป็นสีฟ้าใสเหมือนในทะเลมัลดีฟส์ ขณะที่เปิดระบบสระให้ทำงาน จะมีเสียงน้ำไหลตลอดเวลาเสมือนมีน้ำตกอยู่ในบ้าน เพิ่มความเพลิดเพลินในยามพักผ่อน

บ้านหน้าจั่วตัวแอล

สื่อสารกับธรรมชาติก่อนเข้าถึงภายใน

นอกจากตัวอาคารแล้วงานภูมิทัศน์ก็เป็นหนึ่งองค์ประกอบที่สถาปนิกใส่ใจ ที่ดินตรงนี้อยู่ในซอยที่ค่อนข้างสงบ แต่ไม่มีวิวทั้งด้านหน้าและด้านข้าง สถาปนิกจึงต้องสร้างวิวและธรรมชาติขึ้นมาเอง เป็นส่วนกลางที่โดดเด่นของบ้าน ในโซนทางเดินเข้าสู่ตัวบ้านเลือกปลูกพุดศุภโชคพุ่มเล็กดอกน่ารักเป็นแนว ช่วยลดทอนความแข็งกระด้างของกรอบอาคาร

และเป็นเสมือนเพื่อนร่วมทางไปด้วยกัน ข้างสระสะดุดตากับต้นไม้ทรงสวยที่เด่นอยู่กลางคอร์ทคือน้ำเต้าต้น ต้นไม้ชนิดนี้จะค่อย ๆ โต รากเป็นแบบรากแผ่ไม่ดุ จึงปลูกใกล้อาคารได้ ใบเล็กๆ ไม่บดบังมุมมองจากในบ้าน หน้าบ้านหันทิศเหนือที่แดดไม่แรงจึงไม่ได้เน้นต้นไม้ให้ร่มเงาเหมือนต้นแคนาที่ปลูกไว้ริมรั้ว

“เหมือนเดินเข้ามาในบ้านญี่ปุ่น” คือความรู้สึกแรกที่สัมผัสได้ตั้งแต่เปิดประตูก้าวเข้าสู่ภายใน ที่คุมโทนในการตกแต่งให้ใช้เพียง 3 สี คือ ขาว เทา ดำ แทรกด้วยงานไม้สีอ่อน ๆ ประกอบกับจัดสรรพื้นที่แบบ Open Plan เชื่อมโยงที่ว่างและฟังก์ชันการใช้งานร่วมกัน อาทิ ครัว ห้องทานอาหาร และห้องนั่งเล่นเข้าไว้ด้วยกันโดยไม่มีผนังกั้น เพราะต้องการเชื่อมพื้นที่ให้มีความลื่นไหล  เข้าถึงกันได้หมด หากแบ่งเป็นห้อง ๆ จะเสียพื้นที่ในการก่อกำแพงและทำให้บ้านดูแคบทึบลงด้วย

ครัวเล็ก ๆ ออกแบบให้น่ารักและน่าใช้ เป็นครัวในฝันของคุณแม่บ้านสมัยใหม่ มีฟังก์ชันจำเป็นในการทำอาหาร เป็นชุดครัวบิลท์อินที่ตกแต่งผนังด้วยกระเบื้องสี่เหลี่ยมสีขาวเล็ก ๆ ตัดกับบานตู้สีดำสนิทและบานไม้ที่ออกแบบให้ไร้มือจับแต่ใช้บานเซาะร่องมือจับในตัวแทน ทำให้บานเรียบสวยไม่มีส่วนเกิน ผนังด้านข้างเจาะช่องแสงแนวตั้งเล็ก ๆ ดึงแสงธรรมชาติเข้ามาเพิ่มความสว่างในมุมครัว

แต่ถ้าใครชอบทำอาหารและต้องการใช้งานหนัก ๆ ได้ออกแบบครัวไทยแยกไว้ต่างหาก แบ่งสัดส่วนด้วยประตูบานเลื่อนปิดเปิดได้ กันกลิ่นและควันรบกวนห้องส่วนรวม ทอปเคาน์เตอร์ใช้แผ่นแกรนิตหนาสีดำ รองรับแรงกระแทกในการใช้ครก เขียง ได้ดี สำหรับงานบิลท์อินอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นตู้ ชั้น จะใช้ไม้อัดเกรดดีหนา 6 มิลลิเมตรขึ้นไปทั้งหมดเพื่อความแข็งแรง

บ้านหน้าจั่วตัวแอล

บ้านมินิมอลผ่อนคลายและโปร่งเบา

การตกแต่งภายในเน้นบรรยากาศควบคู่กับมุมมอง การคุมโทนสีและวัสดุให้อยู่กลาง ๆ จะให้ความรู้สึกเสมือนได้พักผ่อนให้ความสงบสุขและเป็นส่วนตัว ส่วนผนังด้านข้างติดตั้งบานประตูกระจกแบบสไลด์ความหนา 6 มิลลิเมตรยาวหลายเมตร กระจกใสช่วยเบลอขอบเขตระหว่างภายในภายนอก เพิ่มอิสระในการเปิดวิสัยทัศน์ออกไปพื้นที่สีเขียวบริเวณคอร์ทกลางบ้านได้ตลอดทั้งวัน ความสูงของกระจกที่เกิน 2 เมตรและช่องแสงข้างบนอีกหนึ่งจุดช่วยให้บ้านเปิดมุมมองสูงขึ้นไปเห็นท้องฟ้าที่ไกลออกไป

ความใสของกระจกยังเปิดรับแสงธรรมชาติเข้าสู่ภายในได้ทั่วบริเวณแต่ไม่ร้อน เพราะบ้านหันไปทางทิศเหนือและการวางอาคารทำให้เกิดเงาอาคารในช่วงบ่าย พื้นที่ส่วนกลางและสวนจึงไม่ร้อนสามารถทำกิจกรรมได้ตลอดทั้งวันเหนือบริเวณนั่งเล่นเจาะโถงสูงแบบ Double Space เพดานสูงถึง 6.5 เมตร

เพิ่มระยะห่างจากเพดานถึงพื้นเป็นพิเศษในส่วนนี้ เพราะต้องการให้ภาพรวมของห้องรับแขกและพักผ่อนดูโล่งโปร่งชวนสบาย ผนังด้านที่ติดสวนที่เป็นสีขาวขนาดใหญ่เลือกใช้เนื้อกึ่งด้านเพื่อไม้ให้สีขาวเงาส่องสะท้อนตา บนผนังอีกด้านจะมีช่องแสงแนวตั้งเล็ก ๆ ติดตั้งอยู่ซึ่งจะเป็นผนังห้องนอนบนชั้นสอง เจ้าของห้องสามารถมองเห็นความเคลื่อนไหวของมุมนั่งเล่นผ่านช่องทางนี้ได้

ช่องแสงเล็ก ๆ ดึงลมรับมุมมองสวน

ผนังที่ต่อเนื่องจากครัวมาถึงห้องนั่งเล่นจะมีช่องหน้าต่างแนวนอนขนาดเล็กขนานไปกับตัวอาคาร ซึ่งเป็นฟังก์ชันที่น่าตื่นตาพอ ๆ กับผนังกระจกขนาดใหญ่อีกด้าน การติดตั้งหน้าต่างแบบนี้ดูจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับบ้านในไทยที่ยังไม่ได้เห็นกันมาก แต่เราสามารถพบได้ในบ้านสไตล์ญี่ปุ่นที่มักจะติดตั้งช่องเปิดเล็ก ๆ เอาไว้ในระดับเดียวกับตอนนั่ง เพื่อบังคับสายตาให้มองต่ำลงไปยังสนามหญ้าที่จัดเอาไว้ข้างนอก ในส่วนนี้คุณจักรกฤตอธิบายว่า “แม้หน้าต่างจะมีขนาดเล็กแต่สามารถรับลมได้ดี

เพราะด้านนี้เป็นทิศใต้ แต่ทิศนี้ก็มีข้อเสียคือแสงแดดจัดในช่วงบ่าย หากทำประตูหน้าต่างใหญ่ก็ยังต้องใช้ผ้าม่านช่วยกั้นแสง การทำช่องเปิดขนาดใหญ่จึงไม่ได้ประโยชน์เต็มที่ สู้เราทำเล็ก ๆ ดึงลม รับมุมมอง ให้แสงลอดเข้ามาได้ประมาณระยะปูกระเบื้องแผ่นที่ 2 ก็เพียงพอแล้ว”

ส่วนประกอบของบ้านที่เป็นไม้แท้ ในส่วนของวงกบ บานประตู ราวจับ และบันได จะใช้ไม้จริงคือไม้สักที่ทนทานและปลวกไม่กิน โดยเลือกใช้ไม้สักเก่า ที่ไม่บิดง่ายและโก่งตัวน้อยกว่าไม้ใหม่ แต่ไม้สักเก่า เนื้อไม้สีค่อนข้างเข้มจึงไม่ค่อยนิยมใช้ในบ้านสไตล์มินิมอลแบบญี่ปุ่นที่จะใช้ไม้สีอ่อน ๆ สถาปนิกจึงให้ช่างฟอกสีไม้ให้จางลงให้สีเข้ากันกับภาพรวมของบ้าน

บ้านหน้าจั่วตัวแอล

สำหรับโซนบันไดมีช่องแสงตรงผนังบริเวณชานพักเพื่อเพิ่มความสว่างขณะเดินขึ้น ส่วนสวิตช์ไฟที่เปิดบริเวณบันไดเป็นแบบ 2 ทางสามารถเปิด-ปิดสวิตช์ไฟฟ้าจากชั้นล่างจุดหนึ่งและชั้นบนอีกจุดหนึ่ง จึงสะดวกและปลอดภัยในการเปิดปิดไฟช่วงค่ำในทุกห้องนอนมีจุดเน้นที่สำคัญคือ จัดตำแหน่งไว้ในส่วนที่รับลมและวิวดี ต้องได้มุมมองจากสวนและสระน้ำ  แต่โดนแสงแดดน้อยในช่วงบ่ายทำให้ไม่ร้อน ซึ่งการจัดวางแปลนบ้านเป็นรูปตัว L เป็นหนึ่งข้อดีที่ทำให้สถาปนิกสามารถจัดตำแหน่งห้องนอน

และเลือกมุมใส่ผนังและช่องเปิดที่เชื่อมสายตาออกไปสู่คอร์ทได้โดยตรงแบบไม่มีอุปสรรคกั้น ส่วนห้องนอนหลักชั้นบนผนังข้างประตูที่เจาะหน้าต่างเอาไว้เดิมทีไม่มีในแปลน แต่เมื่อลองยืนมองจากตรงนี้ สถาปนิกเห็นว่าสามารถดึงวิวคอร์ทของบ้านข้าง ๆ มาสร้างความสดชื่นได้จึงเพิ่มหน้าต่างเข้าไปให้เจ้าของห้องได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นห้องน้ำในห้องนอนมาสเตอร์ วางอยู่ทางทิศตะวันตก เพื่อให้เป็นพื้นที่รับแสงแดดช่วงบ่ายแทนห้องอื่น ๆ และทำให้ห้องน้ำแห้งไม่อับชื้น

การตกแต่งเลือกใช้สุขภัณฑ์สีขาว ดังนั้นทั้งพื้นและผนังจึงใช้สีเทาเพื่อดึงให้สุขภัณฑ์ดูเด่นขึ้นมาจากพื้นหลัง แต่จุดที่ขโมยซีนกลับเป็นสวนในห้องน้ำที่นำธรรมชาติให้เข้ามาแนบชิดในขณะทำธุระส่วนตัว สวนที่กั้นด้วยบานกระจกแบบสไลด์นี้เป็นที่ว่างเปิดออกสู่ท้องฟ้า (open space) มีขั้นตอนการจัดโดยใช้ตะแกรงวางยกระดับพื้นที่ขึ้นมา

ใส่พลาสติกรองกันดินไหลลงด้านล่างและปูด้วยกระเบื้องสองชั้นป้องกันความชื้น มีระบบการ drain น้ำ ทั้งยังใช้วัสดุปลูกที่น้ำหนักเบาเพื่อไม่ให้รับน้ำหนักมากเกินไป สำหรับชนิดต้นไม้ปลูกคลุมดินด้วยหนวดปลาดุก ต้นที่สูงที่สุดคือหนวดปลาหมึกแคระด่างปลูกในกระถางเพื่อจำกัดการแผ่ของราก แล้วคลุมพรางตาด้วยดินอีกทีหลังคาโรงรถปูด้วยหินคลุก ที่นักออกแบบนำมาใส่เพิ่มเพื่อลดการสะท้อนแสงของหลังคาสีขาวที่จะรบกวนสายตาผู้ที่อยู่อาศัยในชั้นบนทำให้รู้สึกไม่สบายตาเมื่อมองลงมา

สถาปนิกเสริมบรรยากาศให้โดดเด่นขึ้นภายในเพิ่มมิติในจุดที่ต้องการเน้นเป็นพิเศษ ด้วยการติดตั้งแสงสว่างแบบ Indirect Lighting (ไฟหลืบหรือไฟซ่อน) ให้แสงที่ส่องสว่างออกมาจะเกิดขึ้นได้จาการสะท้อนตัวผ่านแหล่งกำเนิดแสงที่ซ่อนตัวอยู่ตามมุมต่าง ๆ เช่น เพดานโรงรถ ไฟซ่อนฝ้าบนเพดานบ้าน และบริเวณหัวเตียงในห้องนอน ซึ่งการส่องสว่างจะส่องกระทบพื้นในแนวราบให้เกิดการสะท้อนและกระจายแสงโดยที่จะมองไม่เห็นหลอดไฟ เห็นเพียงแสงที่เป็นเส้นตรงที่กลายเป็นหนึ่งจุดโฟกัสสายตาได้เช่นกัน

“ตอนออกแบบเราคิดเพื่อให้เกิดความพร้อมในการใช้งาน และต้องจินตนาการเพื่อให้สวยงามในการมองและใส่ใจทุกขั้นตอนการก่อสร้างซึ่งออกมาตามที่คิดไว้” เป็นสิ่งที่นักออกแบบทิ้งท้ายบอกกับเราก่อนกลับ ซึ่งแม้เราจะมีเวลาแค่ช่วงสั้น ๆ ในการเยี่ยมเยือน แต่ก็มากพอที่จะรับรู้ได้ว่าทุก ๆ จุดที่ได้เดินสำรวจตั้งแต่หน้าบ้านจนถึงภายใน ทุกตารางเมตรแสดงถึงความใส่ใจในทุกรายละเอียดที่ผ่านการคิดมาอย่างดีว่าจะเติมความสุนทรีย์ผ่านการออกแบบตรงจุดไหนและอย่างไรบ้าง  เพื่อให้เจ้าของบ้านรู้สึกดีทุกครั้ง ในทุกช่วงเวลาที่ได้พักผ่อนภายในบ้านหลังนี้